ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน

โรงเรียนอนุบาลชลบุรี  เปิดทำการสอนเมื่อวันที่  24  มิถุนายน  2486  โดยใช้อาคารเรียนเดิมของโรงเรียนชลกันยานุกูล (โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดชลบุรีเดิม) ด้วยเงินทุนของจอมพล ป.พิบูลสงคราม  อดีตนายกรัฐมนตรี

               เมื่อเริ่มเปิดโรงเรียน  งานอนุบาลเป็นงานฝากให้รวมอยู่กับโรงเรียนชลกันยานุกูล  มีครูใหญ่บริหารงานคนเดียวกัน  คือ  นางสาวอุ่นจิตต์ ติรัตนะ  เปิดสอนชั้นอนุบาลปีที่ 1  นักเรียน  30  คน  ครูอนุบาล  2  คน  เมื่อนักเรียนรุ่นแรกเรียนจบชั้นอนุบาลปีที่ 2  แล้ว   นักเรียนมีอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  เนื่องจากในขณะนั้นมีระเบียบการรับเด็ก   เข้าเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1  อายุ 3  ปี  6  เดือน   เมื่อเรียนจบชั้นอนุบาลปีที่ 2  เด็กจะมีอายุเพียง  5 ปี  6  เดือน ผู้ปกครองนักเรียน ส่วนมากได้ร้องขอให้เปิดชั้นประถมศึกษาขึ้นในโรงเรียนอนุบาล  เพื่อเด็กจะได้เรียนชั้นประถมศึกษาต่อไป     กรมสามัญศึกษาจึงอนุมัติให้เปิดชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  รับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2  เลื่อนขึ้นไปเรียนตามลำดับจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

               ปี  พ.ศ.2495  ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียนไม้ชั้นเดียว 1 หลัง 5 ห้องเรียน   สมทบกับเงินบริจาคของผู้ปกครองและประชาชน  รวมเงินค่าก่อสร้าง 160,000 บาท (หนึ่งแสนหกหมื่นบาทถ้วน)

               ปี  พ.ศ.2497 โรงเรียนอนุบาลชลบุรี ได้แยกเป็นเอกเทศไม่ต้องรวมอยู่กับโรงเรียนชลกันยานุกูล  เนื่องจากแยกสังกัดและกรมสามัญศึกษาได้แต่งตั้ง นางสาวรำไพ พิทักษ์ไพรวัน ให้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่  อาจารย์ใหญ่  และผู้อำนวยการโรงเรียน  ตามลำดับ 

              ปี  พ.ศ. 2505 โรงเรียนชลกันยานุกูล  ย้ายไปอยู่สถานที่แห่งใหม่และได้โอนอาคารเรียนเดิมให้โรงเรียนอนุบาลชลบุรี  ต่อมาได้ใช้เป็นสถานที่เรียนสำหรับชั้นประถมศึกษา  ส่วนนักเรียนอนุบาลเรียนอยู่ที่เดิมตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โรงเรียนอนุบาลชลบุรี  จึงแยกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ  ฝ่ายอนุบาล  และฝ่ายประถมศึกษา  

              ปี  พ.ศ. 2514  โรงเรียนได้รับงบประมาณ 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)   เป็นค่าก่อสร้างอาคารเรียน  1  หลัง  2  ชั้น  8  ห้องเรียน

              ปี  พ.ศ. 2519  โรงเรียนได้รับงบประมาณ 2,736,000 บาท (สองล้านเจ็ดแสนสามหมื่นหกพันบาทถ้วน)  เป็นค่าก่อสร้างอาคารเรียน 1 หลัง ตึก 3 ชั้น 15 ห้องเรียน

              ปี  พ.ศ. 2523 โรงเรียนได้โอนสังกัดจากกรมสามัญศึกษา  มาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ

              ปี  พ.ศ. 2528 นางสาวรำไพ   พิทักษ์ไพรวัน  ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลชลบุรี เกษียณอายุราชการ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ นางสาวชมพู  โปษกะบุตร  มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลชลบุรี   (จนถึงวันที่ 30 กันยายน  2534)

              ปี  พ.ศ. 2530  โรงเรียนได้รับโอนที่ดินราชพัสดุ  ทะเบียนเลขที่ 325   ซึ่งเป็นที่ดินของกรมการปกครอง  เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน ใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 5 รอบ รัชกาลที่ 9   งบประมาณ   ค่าก่อสร้าง  6,598,000  บาท  (หกล้านห้าแสนเก้าหมื่นแปดพันบาทถ้วน)

              ปี  พ.ศ. 2532โรงเรียนได้รับงบประมาณ จาก สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษา แห่งชาติ  12,687,000 บาท (สิบสองล้านหกแสนแปดหมื่นเจ็ดพันบาทถ้วน)  เป็นค่าก่อสร้างอาคารเรียนชั้นอนุบาลแบบพิเศษ  ตึก  2  ชั้น  1  หลัง  22  ห้องเรียนพร้อมห้องประชุมอเนกประสงค์ ใช้เงิน โครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนสมทบอีก  3,980,000  บาท  (สามล้านเก้าแสนแปดหมื่นบาทถ้วน)  และเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสูงกว่าเงินงบประมาณที่ได้รับ  คณะครู-อาจารย์  ผู้ปกครอง  ศิษย์เก่า  และผู้มีจิตศรัทธา  ร่วมกันบริจาคทรัพย์สมทบทุนก่อสร้าง ต่อเติมอาคารเรียนให้เต็มตามรูปแบบรายการอีก  2  ห้องเรียน  พร้อมทางเดินหินขัด  ปรับปรุงบริเวณอาคารเรียน  รั้ว  ครุภัณฑ์  เป็นเงิน  5,000,000  บาท  รวมเป็นค่าก่อสร้างทั้งสิ้น  22,167,000 บาท  (ยี่สิบสองล้านหนึ่งแสนหกหมื่นเจ็ดพันบาทถ้วน)

              สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาตให้ขนานนามอาคารเรียนหลังนี้ว่า “อาคารอนุบาลสิรินธร”รวมทั้ง พระราชทานพระราชานุญาตให้อันเชิญอักษรพระนามาภิไธยย่อ  “สธ”  ประดิษฐานหน้ามุขอาคารเรียน  และทรงรับเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด  “อาคารอนุบาลสิรินธร”  ในวันพฤหัสบดีที่  25  กรกฎาคม  2534  นับเป็นพระกรุณามหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้

              ปี  พ.ศ.2534 นางสาวชมพู โปษกะบุตร  ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลชลบุรี  เกษียณอายุ ราชการ และในวันที่  29  มิถุนายน  2535  สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ  ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นางรัมภา ทรงพงษ์  มารักษาราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลชลบุรี ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ  ได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายชัยรัตน์ ไมตรี  มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลชลบุรี  ตั้งแต่วันที่  22  มกราคม 2536 

              ปี พ.ศ.2534 โรงเรียนได้รับงบประมาณ  จากสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษา  แห่งชาติ  จำนวน  12,000,000  บาท  (สิบสองล้านบาทถ้วน)   เป็นค่าก่อสร้างอาคารเรียน  ประถมศึกษาแบบพิเศษ    ตึก  4  ชั้น  1  หลัง  12  ห้องเรียน   ส่วนที่ 1

             ปี พ.ศ.2539   โรงเรียนได้รับงบประมาณ  จากสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษา    แห่งชาติ  จำนวน  8,998,000  บาท  (แปดล้านเก้าแสนเก้าหมื่นแปดพันบาทถ้วน)  เป็นค่าก่อสร้างอาคารเรียนประถมศึกษาแบบพิเศษ   ตึก  4  ชั้น  1 หลัง  10  ห้องเรียน  พร้อมห้องอเนกประสงค์  ส่วนที่ 2

             ปี พ.ศ.2540 โรงเรียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี  (นายวิทยา  คุณปลื้ม   นายสง่า  ธนาสงวนวงศ์  และนายสมชาย  สหชัยรุ่งเรือง)  เป็นเงิน  2,000,000  บาท (สองล้านบาทถ้วน)  และได้รับความร่วมมือศรัทธาจากผู้ปกครอง ศิษย์เก่าและประชาชน  ร่วมบริจาคสมทบทุนเป็นค่าก่อสร้างอีก  3,696,924   บาท  (สามล้านหกแสนเก้าหมื่นหกพันเก้าร้อยยี่สิบสี่บาทถ้วน)  รวมค่าก่อสร้างอาคารห้องเรียนประชุม และโรงอาหาร  ส่วนที่ 3  ทั้งสิ้น  5,696,924  บาท  (ห้าล้านหกแสนเก้าหมื่นหกพันเก้าร้อยยี่สิบสี่บาทถ้วน)

            ในปี พ.ศ.2542  องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี  ซึ่งเป็นองค์กรส่วนท้องถิ่น  ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาระดับพื้นฐานให้แก่กุลบุตร กุลธิดาของประชาชนในจังหวัดชลบุรี ซึ่ง  จำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาตามศักยภาพสูงสุด  โดยได้มอบที่ดินบริเวณเมืองใหม่  ตำบลเสม็ด  อำเภอเมืองชลบุรี  จำนวน  6  ไร่  พร้อมงบประมาณค่าก่อสร้างอาคารเรียน  3  ชั้น  51  ห้องเรียน  เป็นเงิน  56,800,000  บาท  (ห้าสิบหกล้านแปดแสนบาทถ้วน)  ซึ่งได้เริ่มทำการวางศิลาฤกษ์  เมื่อวันที่  7  มกราคม  2543  โดย ฯพณฯ บรรหาร  ศิลปอาชา  อดีตนายกรัฐมนตรี  โดยกำหนดมอบอาคารเรียนดังกล่าวพร้อมเปิดทำการสอนในต้นปีการศึกษา  2544

             ในปี  พ.ศ. 2544  องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี  ได้มอบที่ดินเพิ่มอีก 3 ไร่ พร้อม  ก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ (โรงอาหาร)  มูลค่า  14,000,000  บาท (สิบสี่ล้านบาทถ้วน)  เพื่อใช้เป็นที่ประกอบอาหารและรับประทานอาหารของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1–2  และชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 42 ห้องเรียน  พร้อมเป็นที่พักครูและคนงานอีกด้วย

              วันที่  30  กันยายน  2546 นายชัยรัตน์  ไมตรี   ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลชลบุรี  เกษียณอายุราชการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  มีคำสั่งแต่งตั้งให้  นายธวัช  บุทธรักษา  มาปฏิบัติหน้าที่แทนเมื่อวันที่  2  ธันวาคม  2546  และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง  ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลชลบุรี ตั้งแต่วันที่  2  มีนาคม  2547 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2552

            ในปี พ.ศ. 2548 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างสระว่ายน้ำมาตรฐานขนาด 12 x 25 x 1.20 เมตร จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี งบประมาณ 3,850,000 บาท  และได้รับทุนทรัพย์จาก  นายสุทัศน์  นางแอนนา  ตั้งเทวาประสิทธิ์  ก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ ( อาคารโดม ) ขนาด 31 x 44 เมตร เพื่อจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นเงิน  4,900,000  บาทและบ่อเก็บน้ำบริโภค ขนาด 4 x 25 x 1.5 เมตร  เป็นเงิน  580,000  บาท

             วันที่  31  มีนาคม  2549  องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี  ได้ขออาคารอนุบาลชลบุรีเมืองใหม่คืนเพื่อจัดตั้งโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี  นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 – 2 และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  ได้ย้ายกลับมาเรียนที่โรงเรียนอนุบาลชลบุรี

            ในปีงบประมาณ 2550   สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จัดสรรงบประมาณ9,950,000 บาท ( เก้าล้านเก้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน )  เป็นค่าก่อสร้างอาคารเรียน 3  ชั้น  16  ห้องเรียน  บนที่ดินที่กรมธนารักษ์ได้มอบให้มีเนื้อที่  3  งาน  33  ตารางวา  แต่เนื่องจากงบประมาณการก่อสร้างสูงกว่า 

งบประมาณที่ได้รับคือ 14,000,000  บาท ( สิบสี่ล้านบาทถ้วน )  เพื่อให้การก่อสร้างเต็มรูปแบบรายการที่กำหนด

             ในปีงบประมาณ 2551  องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี  ได้สนับสนุนงบประมาณเป็นค่าก่อสร้างอาคารเรียน ตึก 5 ชั้น 7 ห้องเรียน  พร้อมดาดฟ้าสำหรับจัดกิจกรรมพัฒนา    ผู้เรียน  เป็นเงิน  6,644,700 บาท ( หกล้านหกแสนสี่หมื่นสี่พันเจ็ดร้อยบาทถ้วน )

             วันที่ 21 มกราคม 2553 นายศิลป์ชัย  สัมพันธ์พร  ได้รับคำสั่ง จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง  ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลชลบุรี จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2558

             วันที่ 28 ตุลาคม 2559 นายประทีป ศรีรักษา  ได้รับคำสั่ง จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง  ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลชลบุรี จนถึงปัจจุบัน

             ลักษณะของชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่เป็นชุมชนเมือง    ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  ประกอบอาชีพหลากหลาย  เช่น  ค้าขาย  รับราชการ  เกษตรกร  และนักธุรกิจ    มีส่วนน้อยที่ผู้ปกครองนักเรียนประกอบอาชีพกรรมกร

             แหล่งการเรียนรู้หรือสถานที่สำคัญในชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่มีอยู่ทั่วไป    ที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้   อาทิ  หอพระพุทธสิหิงค์   วัดใหญ่อินทาราม   พระบรมรูปรัชกาลที่ 5   แหล่งบำบัดน้ำเสีย    ป่าชายเลน   สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล   มหาวิทยาลัยบูรพา   อ่างศิลา   หาดบางแสน   เขาสามมุข   สวนสัตว์เปิดเขาเขียว   สวนเสือ   ศรีราชา   เกาะสีชัง   วัดญาณสังวราราม  พัทยา

             ประเพณีที่สำคัญ  เช่น  ประเพณีวิ่งควาย  เทศกาลวันไหลบางแสน  ประเพณีกองข้าวศรีราชา  มวยตับจาก  เป็นต้น

             สภาพปัญหาที่โรงเรียน ได้แก่ สถานที่จอดรถไม่เพียงพอ ส่งผลให้การจราจรรอบบริเวณโรงเรียนติดขัด ในช่วงเช้า และช่วงเย็น

             การจัดการศึกษาของโรงเรียนอนุบาลชลบุรี   มุ่งเน้นให้นักเรียนมีความรู้ ความสามารถ ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสภาพสังคมปัจจุบัน ส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ  เป็นที่พึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง  ส่งเสริมพัฒนาให้นักเรียนเป็นคนดี  มีปัญญา และมีความสุข ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา  และจัดการศึกษาของโรงเรียน ปัจจุบันปีการศึกษา 2566 โรงเรียนอนุบาลชลบุรี เปิดทำการสอน 2 ระดับ คือ ระดับก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) และประถมศึกษา   มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น  3,090 คน  ข้าราชการครูและบุคลากร จำนวน 341 คน